ประวัติความเป็นมา

Background

          คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สถาบันราชภัฏอุตรดิตถ์ จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2519 ตามพระราชบัญญัติวิทยาลัยครู พุทธศักราช 2518 ใช้ชื่อ ว่า “คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์” โดยรวมเอาหมวดวิชาสังคมศึกษา หมวดวิชาภาษาไทย หมวดวิชาภาษาอังกฤษ หมวดวิชานาฏศิลป์ และหมวดวิชาบรรณารักษ์ จากเดิมที่เป็นวิทยาลัยครูสอนสาขาวิชาการศึกษาอย่างเดียวมารวมกัน

         คณะวิชามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ จัดแบ่งหน่วยงานในคณะวิชาฯ เป็นภาควิชา ทั้งหมด 11 ภาควิชา ได้ แก่ ภาควิชาภาษาไทย ภาควิชาภาษาต่างประเทศ ภาควิชาบรรณารักษ์ศาสตร์ ภาควิชาศิลปะ ภาควิชาดนตรี ภาควิชานาฏศิลป์ ภาควิชาปรัชญาและศาสนา ภาควิชาสังคมวิทยา ภาควิชารัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ภาควิชาภูมิศาสตร์ และภาคประวัติศาสตร์

         พ.ศ. 2527 มีการแก้ไขพระราชบัญญัติวิทยาลัยครู พุทธศักราช 2518 ให้วิทยาลัยครูเป็น “สถาบันอุดมศึกษาและวิจัย ” ทำการสอนถึงระดับปริญญาตรีทั้งสาขาครุศาสตร์ และสาขาอื่น ๆ ตามความต้องการของท้องถิ่นทำให้วิทยาลัยครูอุตรดิตถ์ยกฐานะเป็นสถาบันอุดมศึกษาเทียบเท่ามหาวิทยาลัยมี 3 คณะ คือ คณะครุศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ต่อมาเพิ่ม คณะการจัดการขึ้นเป็นคณะที่สี่ เมื่อท้องถิ่นต้องการบัณฑิตสาขาบริหารธุรกิจมากขึ้น โดยมีคณบดีเป็นผู้บริหารสูงสุดในคณะ

      คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มีอาจารย์เชี่ยวชาญสายมนุษยศาสตร์ ได้แก่ ภาษา คนตรี นาฏศิลป บรรณารักษ์ และปรัชญา สายสังคมศาสตร์ ได้แก่ รัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ สังคมวิทยา พัฒนาสังคม ภูมิศาสตร์ และประวัติศาสตร์ และสายศึกษาศาสตร์การสอน ฉะนั้นคณะจึงมีภารกิจ ผลิตบัณฑิตทั้งสาขาการศึกษา ได้แก่ โปรแกรมวิชาภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ดนตรีศึกษา และสังคมศึกษา สาขาศิลปศาสตร์ ได้แก่ ภาษาอังกฤษ ภาษาอังกฤษธุรกิจ ศิลปกรรม บรรณารักษ์ศาสตร์ พัฒนาชุมชน และวัฒนธรรมศึกษา นอกจากนี้คณะยังพร้อมที่จะพัฒนาหลักสูตรอื่น ๆ เพื่อสนองความต้องการของท้องถิ่นในโอกาสต่อไป

        พ.ศ. 2540 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ได้ทดลองบริการวิชาการภายในคณะจากระบบภาควิชาเป็นโปรแกรมวิชา มี 7 โปรแกรมวิชาในเบื้องต้น ได้แก่ โปรแกรมวิชาภาษาไทย โปรแกรมวิชาภาษาอังกฤษและภาษาอังกฤษธุรกิจ โปรแกรมวิชารัฐประศาสนศาสตร์ โปรแกรมวิชาสังคมศึกษาและพัฒนาชุมชน โปรแกรมวิชาดนตรี โปรแกรมวิชาศิลปะ และโปรแกรมวิชาบรรณารักษ์และสารสนเทศศาสตร์ ต่อมา พ.ศ. 2541 ตั้งโปรแกรมภาษาณี่ปุ่นขึ้นเป็นโปรแกรมวิชาที่แปด

         พ.ศ. 2542 กระทรวงศึกษาธิการได้มีประกาศแบ่งส่วนราชการของสถาบันราชภัฏอุตรดิตถ์ กำหนดให้มี 4 คณะ คือ คณะครุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะวิทยาการจัดการและคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ให้มีหน่วยงานในคณะเพียงหน่วยงานเดียวคือ สำนักงานเลขานุการคณะ มีผลให้คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ได้ประกาศจัดตั้งคณะเพิ่มอีก 2 คณะ ได้แก่ คณะเกษตรศาสตร์และสิ่งแวดล้อม และคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม

          ต่อมาในปี พ.ศ.2544 สถาบันได้ประกาศจัดตั้งคณะเพิ่มอีก 2 คณะ ได้แก่ คณะเกษตรศาสตร์และสิ่งแวดล้อม และคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม

        พ.ศ. 2547 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ดำเนินการบริหารงานโดยแต่งตั้งคณะกรรมการประจำคณะบริหารงาน  12 โปรแกรมวิชา โดยจัดตั้งโปรแกรมวิชาเพิ่มเติมได้แก่ โปรแกรมวิชาสังคมศึกษา โปรแกรมวิชาภาษาอังกฤษ(หลักสูตรธุรกิจนานาชาติ) และโปรแกรมวิชาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และแต่งตั้งคณะกรรมการบัณฑิตศึกษาประจำหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาภาษาอังกฤษ และคณะกรรมการบัณฑิตศึกษาประจำหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการบริหารและพัฒนาประชาคมเมืองและชนบท

      พ.ศ.2549 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ดำเนินการบริหารงานโดยแต่งตั้งคณะกรรมการประจำคณะและแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารโปรแกรมวิชาดำเนินการตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย โดยมีคณะกรรมการบริหารโปรแกรมรวม  3 โปรแกรมวิชา 11 หลักสูตรสาขาวิชา ดังนี้
                     1. โปรแกรมวิชามนุษยศาสตร์ ประกอบด้วย หลักสูตรสาขาวิชาภาษาอังกฤษหลักสูตรสาขาวิชาภาษาอังกฤษธุรกิจ (นานาชาติ) หลักสูตรสาขาวิชาภาษาญี่ปุ่น หลักสูตรสาขาวิชาภาษาไทย  หลักสูตรสาขาวิชาภาษาจีนธุรกิจและหลักสูตรสาขาวิชาสารสนเทศศาสตร์และบรรรณารักษศาสตร์
                    2. โปรแกรมวิชาสังคมศาสตร์ ประกอบด้วย หลักสูตรสาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์  หลักสูตรสาขาวิชาการพัฒนาชุมชน หลักสูตรสาขาวิชานิติศาสตร์ และกำลังพัฒนาหลักสูตรสาขาวิชาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว
                        3. โปรแกรมวิชาศิลปกรรมศาสตร์ ประกอบด้วย หลักสูตรสาขาวิชาศิลปกรรม และหลักสูตรสาขาวิชาดนตรี
           พ.ศ.2550 หลักสูตรสาขาวิชาภาษาอังกฤษธุรกิจ(นานาชาติ) และหลักสูตรสาขาวิชาภาษาจีนธุรกิจได้ย้ายไปสังกัดวิทยาลัยนานาชาติ
           พ.ศ.2552 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ได้รับอนุมัติหลักสูตรสาขาวิชาดนตรีสากลและหลักสูตรการจัดการการท่องเที่ยว
          พ.ศ.2553 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ได้รับอนุมัติหลักสูตรสาขาวิชาสังคมศาสตร์เพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ได้รับอนุมัติการบริหารงานแบบภาควิชา จำนวน 5 ภาควิชา ดังนี้
                               1. ภาควิชาภาษาตะวันออก
                               2. ภาควิชาภาษาตะวันตก
                                      3. ภาควิชาสังคมศาสตร์
                               4. ภาควิชานวัตกรรมสังคม
                               5. ภาควิชาศิลปกรรมศาสตร์